Page 31 - วารสารการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ปีที่ 18 ฉบับที่ 2 พฤษภาคม-สิงหาคม (วารสารเสริม) 2563
P. 31
31
Journal of Thai Traditional & Alternative Medicine Vol.18 No.2 May-August (Supplement) 2020
emS79 : การพัฒนาผลิตภัณฑ์พอกผิวกายจากเนื้อเมล็ดมะขาม
ซุวารี เจ๊ะอาแว, สุไฮนี ขาเดร์, ปิยะนุช สุวรรณรัตน์, ศิริรัตน์ ศรีรักษา
สาขาวิชาการแพทย์แผนไทย คณะวิทยาการสุขภาพและการกีฬา มหาวิทยาลัยทักษิณ วิทยาเขตพัทลุง
หลักการและเหตุผล มะขาม (Tamarindus indica L.) เป็นพืชที่สำคัญทางด้านเศรษฐกิจของประเทศไทย
โดยเมล็ดมะขาม ประกอบไปด้วย 2 ส่วน คือ เปลือกหุ้มเมล็ดมะขามสีน้ำตาลแดง และเนื้อเมล็ดมะขามสีขาว ซึ่งเนื้อ
เมล็ดมะขามประกอบด้วยโพลีแซคคาไรด์ชนิดไซโลกลูแคน ปัจจุบันได้มีการนำสารไซโลกลูแคนจาก เนื้อเมล็ด
มะขามมาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางในรูปแบบเจลและแผ่นฟิล์ม ซึ่งมีคุณสมบัติเพิ่มความชุ่มชื้นและความ
ยืดหยุ่นให้ผิวหนัง จากคุณสมบัติของเนื้อเมล็ดมะขามดังกล่าว คณะผู้วิจัยจึงสนใจพัฒนาเนื้อเมล็ดมะขามเป็น
ผลิตภัณฑ์พอกผิวกายในรูปแบบเช็ดหรือล้างออก โดยมีส่วนประกอบสำคัญ คือ คาโอลิน (Kaolin) ที่มีคุณสมบัติใน
การทำความสะอาดและเพิ่มความชุ่มชื่นให้แก่ผิวหนัง โดยการศึกษาคุณสมบัติทางกายภาพของผลิตภัณฑ์ นำ
ผลิตภัณฑ์ที่มีคุณสมบัติทางกายภาพที่เหมาะสมไปทดสอบการระคายเคือง ประเมินความชุ่มชื้นของผิวหนัง และ
ประเมินความพึงพอใจของอาสาสมัครในด้านผลิตภัณฑ์และฉลากบรรจุภัณฑ์ซึ่งสามารถนำไปสู่การพัฒนาเป็น
ผลิตภัณฑ์พอกผิวกายที่มีประสิทธิภาพ อีกทั้งยังเป็นการเพิ่มมูลค่าของเมล็ดมะขามซึ่งเป็นวัสดุเหลือทิ้งมาประยุกต์ใช้
ให้เกิดประโยชน์มากขึ้น
วัตถุประสงค์ เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์พอกผิวกายจากเนื้อเมล็ดมะขาม ศึกษาประสิทธิผลความชุ่มชื้นของ
ผิวหนัง และประเมินความพึงพอใจของอาสาสมัครสุขภาพดีต่อผลิตภัณฑ์ และรูปแบบบรรจุภัณฑ์
วิธีดำเนินการ การวิจัยนี้เป็นการวิจัยกึ่งทดลอง โดยการพัฒนาผลิตภัณฑ์พอกผิวกายจากเนื้อเมล็ดมะขาม
ศึกษาคุณสมบัติทางกายภาพ ได้แก่ สี กลิ่น ความหนืด ความเนียน สิ่งแปลกปลอม และทดสอบค่า pH จากนั้น
คัดเลือกผลิตภัณฑ์พอกผิวกายที่มีคุณสมบัติทางกายภาพเหมาะสมที่สุดไปทดสอบในอาสาสมัคร สุขภาพดีจำนวน 27
คน โดยให้อาสาสมัครทาผลิตภัณฑ์บริเวณทดสอบ ประเมินความชุ่มชื้นของผิวหนังก่อนและหลังใช้ผลิตภัณฑ์ ทดสอบ
การระคายเคือง และประเมินความพึงพอใจของอาสาสมัคร วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติพื้นฐานเกี่ยวกับค่าร้อยละ
ค่าเฉลี่ย ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน และใช้สถิติทดสอบสมมติฐาน โดยใช้สถิติ Paired t-Test
ผลการศึกษา ผลการพัฒนาผลิตภัณฑ์พอกผิวกายจากเนื้อเมล็ดมะขาม พบว่า ผลิตภัณฑ์พอกผิวกายจากเนื้อ
เมล็ดมะขามที่มีคุณสมบัติเหมาะสมที่สุด ประกอบด้วยเนื้อเมล็ดมะขามอัตราส่วนร้อยละ 5 ซึ่งผลิตภัณฑ์ มีลักษณะมี
ลักษณะเนียน หนืดปานกลาง สีเทา กลิ่นหอมน้ำนมข้าว ไม่มีสิ่งแปลกปลอม และมีค่า pH เท่ากับ 7 ผลการทดสอบ
ความชุ่มชื้นในอาสาสมัครจำนวน 27 คน พบว่า อาสาสมัครมีความชุ่มชื้นของผิวหนังก่อนการทดสอบเท่ากับ
41.98±1.03 และหลังการทดสอบเท่ากับ 56.02±1.31 ซึ่งเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p<0.05) นอกจากนี้
พบว่าไม่มีอาสาสมัครคนใดเกิดการระคายเคือง อาสาสมัครมีความพึงพอใจต่อผลิตภัณฑ์ในระดับมากถึงมากที่สุด และมี
ความพึงพอใจต่อบรรจุภัณฑ์รูปแบบกระปุก ร้อยละ 44.4
ข้อสรุป จากการศึกษา พบว่า ผลิตภัณฑ์พอกผิวกายจากเนื้อเมล็ดมะขาม มีคุณสมบัติช่วยเพิ่มชุ่มชื้นให้กับ
ผิวหนังของอาสาสมัคร อาสาสมัครไม่เกิดการระคายเคือง ซึ่งสามารถนำไปต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ในรูปแบบอื่นที่เพิ่ม
มูลค่าให้กับเมล็ดมะขามต่อไป