Page 36 - วารสารการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ปีที่ 18 ฉบับที่ 2 พฤษภาคม-สิงหาคม (วารสารเสริม) 2563
P. 36
36 วารสารการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ปี ที่ 18 ฉบับที่ 2 พฤษภาคม-สิงหาคม (ฉบับเสริม) 2563
emS56 : ความสัมพันธ์เบื้องต้นของการใช้สุคนธบำบัดชนิดสูดดมเป็นประจำต่อ
อารมณ์และความดันโลหิตในอาสาสมัครชายสุขภาพดี
ก้าวเกียรติ สุมิตรเหมาะ , ชัชพงค์ สุขสราญ , เมธิรา คำทอง , นิบุณ วัฒนญาณนนท์ , วรางคณา อาภรณ์ชยานนท์
1
1
1
2
1
1 คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่,
2 ภาควิชาเภสัชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
หลักการและเหตุผล ปัจจุบันเรานิยมนำน้ำมันหอมระเหยจากพืช อาทิ ยูคาลิปตัส โรสแมรี่ ลาเวนเดอร์ ฯลฯ
มาใช้เพื่อบำบัดอารมณ์และความเครียด โดยการออกฤทธิ์มักเกิดขึ้นเฉียบพลันในขณะสูดดม ผ่านการเปลี่ยนแปลง
ระดับสารสื่อประสาทซีโรโทนิน (serotonin) ในสมอง แต่ผลของการใช้สุคนธบำบัดชนิดสูดดมเป็นประจำต่อการปรับ
สมดุลทางอารมณ์ สภาพเยื่อบุจมูกและความดันโลหิตของผู้ใช้ยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัด
วัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาความสัมพันธ์เบื้องต้นของการใช้สุคนธบำบัดชนิดสูดดมเป็นประจำอย่างน้อย 1
สัปดาห์ต่อสภาวะอารมณ์ สภาพช่องจมูก และความดันโลหิตในอาสาสมัครชายไทยอายุน้อยที่มีสุขภาพดี
วิธีดำเนินการ งานวิจัยนี้เป็นการศึกษาแบบสังเกตการณ์เชิงวิเคราะห์ภาคตัดขวาง โดยคัดกรองอาสาสมัคร
นักศึกษาสาขาวิทยาศาสตร์สุขภาพชั้นปีที่ 2 เพศชาย สุขภาพดี ที่ใช้สูดดมน้ำมันหอมระเหยใด ๆ เป็นประจำอย่าง
น้อย 1 ครั้งต่อวัน นาน 10 นาทีขึ้นไป ต่อเนื่องกันไม่ต่ำกว่า 1 สัปดาห์ และอาสาสมัครที่ไม่เคยใช้สุคนธบำบัดใด ๆ
มาก่อน เข้ารับการประเมินสภาวะอารมณ์โดยใช้แบบทดสอบ Hospital Anxiety and Depression Scale (HADS),
Thai Depression Inventory (TDI), และ Visual analogue Mood, Anxiety, Stress, and Alertness Scale
(MASA-150) รวมทั้งบันทึกสัญญาณชีพ ความดันโลหิต และตรวจช่องจมูกโดยโสต ศอ นาสิกแพทย์ ใช้วิธีทางสถิติใน
การวิเคราะห์ข้อมูล
ผลการศึกษา จาก MASA-150 พบว่าอาสาสมัครที่ใช้สุคนธบำบัดชนิดสูดดมเป็นประจำ 9 ราย (n=9) มี
ระดับอารมณ์เชิงบวกสูงกว่าอาสาสมัครที่ไม่เคยใช้ (n=9) อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ โดยเฉพาะความรู้สึกมีความสุข
(p=0.024) และความรู้สึกสงบ (p=0.022) สัดส่วนผู้ใช้ที่มีระดับความสุขมากสูงกว่ากลุ่มที่ไม่ใช้ 1.6 เท่า มีความรู้สึก
ผ่อนคลายมากและความรู้สึกสงบมากสูงกว่าผู้ที่ไม่ใช้ 1.3 เท่า ในขณะเดียวกันก็มีระดับอารมณ์เชิงลบ อาทิ อารมณ์
ซึมเศร้าจากคะแนน TDI ต่ำกว่าอย่างมีนัยสำคัญ (p=0.020) เช่นเดียวกับความดันโลหิตซิสโตลิคของกลุ่มที่ใช้สุคนธ
บำบัดเป็นประจำต่ำกว่ากลุ่มที่ไม่ใช้ (p=0.034) โดยกลุ่มที่ใช้มีค่ามัธยฐานของความดันซิสโตลิคเท่ากับ 117.0 (Q1
110.50 – Q3 119.50) ม.ม.ปรอท ในขณะกลุ่มที่ไม่ใช้มีความดันซิสโตลิคเท่ากับ 134.0 (Q1 119.50 – Q3 141.50)
ม.ม.ปรอท ไม่พบความผิดปกติของสภาพเยื่อบุจมูกที่เห็นด้วยตาเปล่าในอาสาสมัครทั้งสองกลุ่ม น้ำมันหอมระเหยที่
อาสาสมัครใช้ ได้แก่ ลาเวนเดอร์ โรสแมรี่ และพืชวงศ์ขิง อาสาสมัครทั้งหมดระบุว่าใช้สุคนธบำบัดก่อนนอนด้วยวิธี
หยดน้ำมันหอมระเหยลงบนเสื้อหรือสูดดมโดยตรง
ข้อสรุป การใช้สุคนธบำบัดชนิดสูดดมเป็นประจำมีความสัมพันธ์ต่อการปรับสภาวะอารมณ์ ทำให้ระดับ
อารมณ์เชิงบวกสูงกว่าและอารมณ์เชิงลบต่ำกว่าผู้ไม่ใช้ ส่งผลต่อสุขภาพกาย เช่น ลดความดันซิสโทลิค นอกจากนี้ยัง
ไม่มีความสัมพันธ์ต่อสภาพภายนอกของเยื่อบุจมูก โดยผลที่ได้นี้สามารถนำไปประยุกต์ใช้กับการศึกษาทางคลินิกใน
การลดระดับอารมณ์เชิงลบของผู้ป่วยต่อไป